ไตรกลีเซอไรด์: เป็นพิษต่อหัวใจ เป็นภัยต่อหลอดเลือดสมอง

ไตรกลีเซอไรด์เป็นหนึ่งในค่าไขมันที่ได้จากการตรวจระดับไขมันในเลือด และหากพบว่าระดับไตรกลีเซอไรด์สูงเกินไปนั้น ย่อมไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพอย่างแน่นอน

แต่ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักไตรกลีเซอไรด์เพิ่มอีกสักนิดก่อนดีกว่า

ไตรกลีเซอไรด์ คืออะไร?

ไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglyceride) เป็นไขมันที่สะสมอยู่ในร่างกาย ซึ่งส่วนมากมักมาจากการกินอาหารที่มีน้ำตาลและการดื่มแอลกอฮอล์ที่มากเกินไป จนทำให้ร่างกายนำพลังงานส่วนเกินเหล่านี้มาเก็บสะสมในรูปของไขมันไตรกลีเซอไรด์ 

โดยทั่วไปไตรกลีเซอไรด์ก็ถือว่าเป็นแหล่งพลังงานสำรองของร่างกายรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อร่างกายเหมือนกัน เพียงแต่การมีไตรกลีเซอไรด์สะสมที่มากเกินไปจะกลายเป็นผลเสียต่อร่างกายแทน

ระดับเท่าไหร่ถึงจะอยู่ในเกณฑ์ปกติ? 

ลองกลับไปดูผลการตรวจไขมันในเลือดของคุณ แล้วเทียบกับเกณฑ์เหล่านี้ดู คราวนี้คุณจะรู้แล้วว่าตอนนี้ตัวเองมีความเสี่ยงหรือไม่

  • น้อยกว่า 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หมายถึง ไตรกลีเซอไรด์อยู่ในระดับปกติ
  • 150-199 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หมายถึง ไตรกลีเซอไรด์อยู่ในระดับคาบเส้น สุ่มเสี่ยง
  • 200-499 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หมายถึง ไตรกลีเซอไรด์อยู่ในระดับสูง
  • มากกว่า 500 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป หมายถึง ไตรกลีเซอไรด์อยู่ในระดับสูงมาก

ความเสี่ยงที่ว่าคืออะไร?

การมีระดับไตรกลีเซอไรด์ที่สูงเป็นระยะเวลานานจะยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคสมองขาดเลือด (Stroke) และโรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งเป็นโรคที่มีความอันตรายถึงชีวิต และหากมีระดับไตรกลีเซอไรด์ที่สูงมาก อาจก่อให้เกิดภาวะตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งมีความอันตรายเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ระดับไตรกลีเซอไรด์ที่สูงอาจยังเป็นสัญญาณของโรคอื่น ๆ เช่น โรคอ้วนลงพุง (Metabolic syndrome) โรคเบาหวาน และภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ (Hypothyroidism)

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนยังไม่ปักใจเชื่อว่าระดับไตรกลีเซอไรด์ที่สูงนั้นเป็นต้นเหตุของโรคหัวใจ

เนื่องจากระดับไตรกลีเซอไรด์ที่สูงมักมาพร้อมกับระดับคอเลสเตอรอลที่สูง และดูเหมือนว่าระดับคอเลสเตอรอลที่สูงนี้จะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคเหล่านี้มากกว่า

แต่การป้องกันไว้ก่อนก็ถือเป็นเรื่องที่ดีกว่าอยู่ดี

หากมีระดับไตรกลีเซอไรด์สูง ควรปฏิบัติตัวอย่างไร?

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเรื่องนี้ เพราะนอกจากจะช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ฺได้แล้ว ยังสามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่น ๆ ด้วย เริ่มจาก

  • ลดการกินน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตที่มีการขัดสี เช่น น้ำตาลทราย น้ำตาลฟรุกโทส แป้งขัดขาว เป็นต้น เพราะอาหารเหล่านี้สามารถให้พลังงานได้อย่างรวดเร็ว จึงเป็นต้นเหตุของการสร้างไตรกลีเซอไรด์ในร่างกาย
  • ลดการดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากแอลกอฮอล์ให้พลังงานที่สูง แต่กลับไม่ให้สารอาหารที่สำคัญแก่ร่างกายเลยแม้แต่น้อย 
  • ลดน้ำหนัก น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นบ่งบอกว่าคุณกำลังกินอาหารมากเกินไป ซึ่งพลังงานส่วนเกินเหล่านี้จะถูกนำไปสะสมเป็นไตรกลีเซอไรด์ทั้งในเลือดและเซลล์ไขมัน
  • เลือกกินไขมันดี โดยการเปลี่ยนการกินไขมันอิ่มตัว ซึ่งส่วนมากพบในเนื้อสัตว์ไปเป็นไขมันไม่อิ่มตัวในพืชแทน และหลีกเลี่ยงไขมันทรานส์โดยเด็ดขาด
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ โดยช่วงแรกขอแค่เพิ่มการเดินและการขยับตัวให้มากขึ้น แล้วค่อยขยับไปเป็นการออกกำลังกายที่เป็นกิจลักษณะ เช่น เดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ เป็นต้น

สำหรับบางคนที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์สูงมาก การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอาจจะยังไม่เพียงพอ แพทย์จะมีการสั่งจ่ายยาลดระดับไขมันในเลือดร่วมด้วย เพื่อเป็นการช่วยให้สามารถควบคุมระดับไขมันในเลือดได้ดียิ่งขึ้น

สรุปประเด็น

  • ไตรกลีเซอไรด์เป็นไขมันที่เกิดจากการกินอาหารโดยเฉพาะน้ำตาล และแอลกอฮอล์ที่มากเกินไป
  • ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดไม่ควรเกิน 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • ระดับไตรกลีเซอไรด์ที่สูงจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคสมองขาดเลือด และโรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต
  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสามารถช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ลงได้ในระยะยาว หากยังไม่เพียงพอ แพทย์อาจสั่งจ่ายยาร่วมด้วย และควรปฏิบัติตัวตามแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด

ผลิตภัณฑ์ของเรา

สามารถสั่งซื้อได้ที่
🔵Facebook: https://m.me/PalatyneHealthySweetener
📱LINE@: https://lin.ee/iADtNKV
📞เบอร์โทรศัพท์: 086-369-5555
👉🏻ร้านค้า Lemon Farm ทุกสาขา
👉🏻ร้านค้า Golden Place สาขาพระราม 9, สีลม, หัวหิน1, สะพานสูง, ศิริราช2, ม.เกษตร, ถนนสุโขทัย, ชวนชม, ฉะเชิงเทรา


คุณอ่านบทความนี้แล้วหรือยัง?