ผลไม้จัดว่าเป็นอาหารที่สร้างความหนักใจให้ทั้งบุคลากรณ์ทางการแพทย์และผู้ป่วยเบาหวาน เพราะผลไม้แต่ละชนิดมีปริมาณน้ำตาลที่ไม่เท่ากัน ดังนั้น การแนะนำว่าควรทานผลไม้ชนิดใดในปริมาณเท่าไรนั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อนพอสมควร
แต่ไม่ต้องห่วง เพราะเราได้ทำการคัดเลือกผลไม้ที่ผู้ป่วยเบาหวานสามารถทานได้มาไว้ในบทความนี้แล้ว ซึ่งเราหวังว่าจะช่วยให้คุณทานผลไม้ได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำตาล หรืออาจจะกังวลน้อยลงบ้างก็ยังดี
ผลไม้ที่แนะนำ
ส้ม
ส้มเป็นผลไม้ที่สามารถหาทานได้ตลอดทั้งปี และมีรสชาติที่ดี แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือประโยชน์ในด้านการเป็นแหล่งวิตามินซีที่ดี เพราะส้มเพียงลูกเดียวให้วิตามินซีได้เกือบครบตามปริมาณที่แนะนำต่อวัน พร้อมทั้งยังมีใยอาหารสูง ช่วยในเรื่องการชะลอการดูดซึมน้ำตาลได้ด้วยนะ
องุ่น
ผลไม้ที่กินได้ทั้งเปลือกอย่างองุ่นเป็นแหล่งของใยอาหารที่ดี แต่สิ่งที่ทำให้องุ่นเข้ามาอยู่ในลิสต์นี้คือ สารพฤกษเคมีที่ชื่อว่า เรสเวอราทรอล (Resveratrol) ซึ่งช่วยในเรื่องการลดคอเลสเตอรอลในเลือด ลดความดัน และที่สำคัญคือลดความเสี่ยงโรคหัวใจได้เป็นอย่างดี
แอปเปิ้ล
An apple a day keeps the doctor away
เพียงทานแอปเปิ้ลวันละ 1 ลูกก็ช่วยให้ห่างไกลจากโรคได้
สำนวนนี้ไม่ได้ถูกตั้งมาเล่น ๆ แต่เป็นเพราะว่าแอปเปิ้ลเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์มากจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิตามินซี ใยอาหาร หรือสารต้านอนุมูลอิสระ แอปเปิ้ลก็มีมากไม่แพ้ใครเลยทีเดียว แถมยังพ่วงด้วยความสามารถในการลดน้ำหนัก โดยพบว่าการทานแอปเปิ้ลแบบไม่ปอกเปลือกวันละ 300 กรัม (ประมาณ 1.5-2 ลูก) ช่วยให้ลดน้ำหนักได้ถึง 1.3 กิโลกรัมภายในเวลาเพียง 12 สัปดาห์เท่านั้น
แตงโม
ถึงแม้ว่าแตงโมจะมีรสชาติที่หวาน แต่ปริมาณน้ำตาลก็ไม่ได้เยอะอย่างที่คิด เพราะแตงโมนั้นมีน้ำเป็นส่วนประกอบอยู่เยอะมาก และยังอุดมไปด้วยเบตาแคโรทีน ซึ่งเป็นสารที่ใช้ในการสังเคราะห์วิตามินเอ ซึ่งช่วยในเรื่องการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน
สตรอว์เบอร์รี่
เห็นแบบนี้ แต่สตรอว์เบอร์รี่ก็มีใยอาหารสูงเป็นลำดับต้น ๆ ในบรรดาผลไม้เลยนะ โดยสตรอว์เบอร์รี่ปริมาณเพียง 100 กรัม ก็มีใยอาหารสูงถึง 8% ของปริมาณที่ต้องการต่อวันเลยทีเดียว
อีกหนึ่งจุดเด่นของสตรอว์เบอร์รี่คือ สารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีสีแดง นั่นหมายความว่ายิ่งสตรอว์เบอร์รี่มีสีแดงมากเท่าไรก็จะยิ่งมีสารตัวนี้มากตามไปด้วย แอนโทไซยานินนั้นช่วยในเรื่องการเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดเอชดีแอล และช่วยลดความดัน จึงทำให้ความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจลดลง นอกจากนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งบางชนิดได้อีกด้วย
กีวี่
กีวี่จัดเป็นอาหารว่างที่ดีมากสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ด่้วยวิตามินซีสูงมากถึงขนาดว่าทานแค่ลูกเดียวก็ได้รับวิตามินซีครบตามความต้องการต่อวันแล้ว แถมยังมีปริมาณน้ำตาลอยู่น้อยมาก ผู้ป่วยเบาหวานจึงไม่ต้องกังวลเวลาทานกีวี่เลย
อะโวคาโด
ในบรรดาผลไม้ในลิสต์นี้ อะโวคาโดจัดว่ามีความพิเศษกว่าตัวอื่น ๆ เพราะว่ามันเป็นผลไม้ที่แทบจะไม่มีน้ำตาลเลย! และนอกจากจะไม่มีน้ำตาลแล้ว อะโวคาโดยังจัดว่าเป็น superfood เพราะมีสารอาหารที่มีประโยชน์มากมาย อุดมไปด้วยวิตามิน ไม่ว่าจะเป็นวิตามินซี อี เค บีสอง บีสาม บีห้า บีหก โฟเลท และแร่ธาตุอื่น ๆ เช่น แมกนีเซียม โพแทสเซียม สังกะสี และแมงกานีส
และอีกหนึ่งจุดที่เป็นไฮไลท์เลยคือ อะโวคาโดนั้นเป็นผลไม้ที่มีไขมันไม่อิ่มตัวสูงมาก ซึ่งมีประโยชน์ในด้านการลดคอเลสเตอรอลชนิดแอลดีแอล ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ และยังช่วยลดความอยากอาหาร ช่วยในการคุมน้ำหนักอีกด้วย
ประโยชน์เยอะขนาดนี้ หากใครยังไม่เคยลองทาน อาจจะต้องรับไว้พิจารณาบ้างแล้ว
ผลไม้ที่ควรระวัง
ถึงแม้ว่าผลไม้ส่วนใหญ่จะมีประโยชน์กับผู้ป่วยเบาหวาน แต่ก็ยังมีบางชนิดที่มีน้ำตาลอยู่มาก ถ้าหากผู้ป่วยเบาหวานทานอย่างไม่ระมัดระวังก็จะทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีได้ โดยผลไม้ที่คุณควรระวังจะมีดังต่อไปนี้
ทุเรียน
ฉายาราชาผลไม้ไม่ได้ได้มาเพราะโชคช่วย แต่เป็นเพราะว่าทุเรียนนั้นมีสารอาหารอยู่เยอะมาก ซึ่งรวมถึงปริมาณน้ำตาลด้วย โดยการทานทุเรียนเพียง 1 เม็ด (40 กรัม) จะทำให้ร่างกายได้รับน้ำตาลมากกว่าการทานสตรอว์เบอร์รี่ปริมาณ 100 กรัม เสียอีก
และนอกจากนี้ ทุเรียนยังจัดเป็นผลไม้ที่มีไขมันและแคลอรีสูง ทั้งยังมีรสชาติที่หวานอร่อย จึงอาจทำให้คุณทานเพลินจนน้ำตาลขึ้น น้ำหนักตัวพุ่งเอาได้ จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมทุเรียนถึงเป็นผลไม้ที่ต้องระวังเป็นอันดับแรก
ลิ้นจี่
ความหวานของลิ้นจี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้คุณชอบทาน แต่ถ้าคุณรู้ปริมาณน้ำตาลที่อยู่ข้างใน คุณอาจจะต้องคิดทบทวนอีกครั้งเลยว่าควรทานหรือไม่
ลิ้นจี่ 1 ลูก มีปริมาณน้ำตาลประมาณ 1.5 กรัม ฟังดูอาจจะไม่เยอะ แต่ถ้าสมมติคุณทาน 10 ลูก คุณจะได้รับน้ำตาลในปริมาณถึง 1 ช้อนโต๊ะ ซึ่งในความเป็นจริง มีโอกาสสูงมากที่คุณจะทานมากกว่านั้น
นอกจากเรื่องปริมาณน้ำตาลที่สูงแล้ว ผู้ป่วยเบาหวานควรจะต้องระมัดระวังการทานลิ้นจี่ที่ยังไม่สุกไว้ด้วย เพราะเคยมีรายงานว่าการทานลิ้นจี่ที่ยังไม่สุกในช่วงที่ร่างกายมีภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ จะทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทที่มีความอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย ดังนั้น หากคุณทานยาเบาหวานหรือกำลังฉีดอินซูลินอยู่ แนะนำว่าควรหลีกเลี่ยงลิ้นจี่แล้วหันไปทานผลไม้ชนิดอื่นจะดีกว่า
มะม่วงสุก
มะม่วงเป็นผลไม้ที่มีปริมาณน้ำตาลสูง และจะยิ่งสูงขึ้นไปอีกตามความสุกงอมของมะม่วง อีกทั้งมะม่วงยังนิยมรับประทานคู่กับอาหารบางประเภทที่ไม่ค่อยเหมาะกับผู้ป่วยเบาหวานนัก เช่น ข้าวเหนียวมูน พริกเกลือ หรือน้ำปลาหวาน จึงทำให้มะม่วงเป็นผลไม้ที่ต้องระวังเป็นอย่างยิ่ง
ผลไม้แต่ละชนิดมีพลังงานและน้ำตาลอยู่เท่าไรกันนะ?
หน่วยบริโภค | ดัชนีน้ำตาล | น้ำตาล (กรัม) | ใยอาหาร* (กรัม) | พลังงาน (กิโลแคลอรี) | |
ส้ม | 1 ลูก (140 กรัม) | 40 | 12 | 2.8 (11%) | 66 |
องุ่น | 1 กำมือ (90 กรัม) | 59 | 15 | 1 (2.5%) | 62 |
แอปเปิ้ล | 1 ลูก (100 กรัม) | 39 | 10 | 2.4 (10%) | 52 |
แตงโม | 150 กรัม | 72 | 12.5 | 0.8 (3%) | 61 |
สตรอว์เบอร์รี่ | 160 กรัม | 41 | 8 | 3.2 (13%) | 58 |
กีวี่ | 1 1/2ลูก (100 กรัม) | 47 | 9 | 3 (12%) | 63 |
อะโวคาโด | 1/2 ลูก (68 กรัม) | 0 | 0.2 | 6 (24%) | 114 |
ทุเรียน | 1 เม็ด (40 กรัม) | 49 | 7.2 | 1.5 (6%) | 60 |
ลิ้นจี่ | 10 ลูก (100 กรัม) | 48 | 15.2 | 1.3 (5%) | 66 |
มะม่วงสุก | 1/2 ลูก (90 กรัม) | 51 | 13.5 | 1.7 (7%) | 60 |
ผมขอย้ำว่าผลไม้ยังคงเป็นอาหารที่ดีสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เพราะเป็นแหล่งของวิตามิน เกลือแร่ ใยอาหาร และสารพฤกษเคมีที่มีเฉพาะในผักและผลไม้เท่านั้น และนอกจากเรื่องชนิดของผลไม้ที่ต้องใส่ใจแล้ว เรื่องปริมาณการรับประทานก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยแนะนำว่าคุณควรทานผลไม้วันละ 1-2 หน่วยบริโภคต่อวัน (สามารถดูได้จากตารางด้านบน) เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากผลไม้ได้อย่างเต็มที่ โดยที่ไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำตาล
ผลิตภัณฑ์ของเรา
🛒สามารถสั่งซื้อพาลาทีนสวีทเทนเนอร์ได้ที่
🔵Facebook: https://m.me/PalatyneHealthySweetener
📱LINE@: https://lin.ee/iADtNKV
📞เบอร์โทรศัพท์: 086-369-5555
👉🏻ร้านค้า Lemon Farm ทุกสาขา
👉🏻ร้านค้า Golden Place สาขาพระราม 9, สีลม, หัวหิน1, สะพานสูง, ศิริราช2, ม.เกษตร, ถนนสุโขทัย, ชวนชม, ฉะเชิงเทรา
อ้างอิง
Mark L. Dreher & Adrienne J. Davenport (2013) Hass Avocado Composition and Potential Health Effects, Critical Reviews in Food Science and Nutrition, 53:7, 738-750, DOI: 10.1080/10408398.2011.556759
https://www.medicalnewstoday.com/articles/lychee-fruit
คุณอ่านบทความนี้แล้วหรือยัง?
- สารให้ความหวานต่างจากน้ำตาลอย่างไร
- Palatyne smart cabohydate for sport drink
- สิ่งที่ควรทำเมื่อเกิดภาวะน้ำตาลตก
- Fast Foot ทำร้ายผู้ป่วยเบาหวานมากกว่าที่คิด
- 7 ของว่างสุดปัง เปลี่ยนจากร่างพังเป็นร่างผอม