พาลาทีน คือ อะไร

พาลาทีน คือ ไอโซมอลทูโลส (Isomaltulose) ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตที่มีโครงสร้างคล้ายกับน้ำตาลทรายมากที่สุด แตกต่างตรงที่ต่อกันด้วยพันธะไกลโคซิดิกชนิดแอลฟา-1,6 (1,6 glycosidic bond) ส่งผลให้ร่างกายใช้เวลาย่อยและดูดซึมนานกว่าน้ำตาลทรายถึง 4 เท่า ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่ขึ้นสูงอย่างรวดเร็วหลังรับประทาน [1] พาลาทีน ถูกย่อยและดูดซึมหมดในลำไส้เล็ก ไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อระบบขับถ่าย เช่น อาการปวดท้อง ท้องเสีย เป็นต้น [2]

เอกสารอ้างอิง

1. Sangeetha Shyam, Amutha Ramadas, Sui Kiat Chang, Isomaltulose: Recent evidence for health benefits, Journal of Functional Foods, Volume 48, 2018, Pages 173-178.

2. TAMURA, A., SHIOMI, T., TAMAKI, N., SHIGEMATSU, N., TOMITA, F., & HARA, H. (2004). Comparative Effect of Repeated Ingestion of Difructose Anhydride III and Palatinose on the Induction of Gastrointestinal Symptoms in Humans. Bioscience, Biotechnology, and Biochemistry, 68(9), 1882–1887

คาร์โบไฮเดรตที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ

พาลาทีน มีค่าดัชนีน้ำตาลเท่ากับ 38  จึงถูกจัดเป็นอาหารที่อยู่ในกลุ่มดัชนีน้ำตาลต่ำ (น้อยกว่า 55) ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดน้อยกว่าการบริโภคน้ำตาลทั่วไปอย่างชัดเจน [1]

จากกราฟพบว่า พาลาทีน มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำไม่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นทันทีหลังจากรับประทาน และไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงมากเมื่อเวลาผ่านไป 120 นาทีหลังจากรับประทาน แสดงให้เห็นว่าพาลาทีน ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดน้อยกว่าเมื่อเทียบกับกลูโคส

เอกสารอ้างอิง

1. วันทนีย์ เกรียงสินยศ. (2553) การศึกษาค่าดัชนีน้ำตาล การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำตาลและการเผาผลาญ สารอาหารเพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานภายหลังการรับประทานน้ำตาลไอโซมอลตูโลส. มหาวิทยาลัยมหิดล, สถาบันโภชนาการ

กราฟเปรียบเทียบผลของพาลาทีนและกลูโคสต่อระดับน้ำตาลในเลือด

ไอโซมอลทูโลสกับผู้ป่วยเบาหวาน

ผลวิจัยชี้ว่าไอโซมอลทูโลสอ่อนโยนต่อผู้ป่วยเบาหวานมากกว่า การศึกษาในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่าการรับประทานไอโซมอลทูโลสส่งผลต่อฮอร์โมนที่มีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดและการทำงานของตับอ่อนน้อยกว่าการรับประทานน้ำตาลทราย เช่น ฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ฮอร์โมนกลูคากอน (Glucagon) และระดับ C-peptide ดังนั้นพาลาทีนจึงส่งผลดีต่อร่างกายในการตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin sensitivity) และช่วยชะลอความเสื่อมของตับอ่อน [1]

อีกทั้งไอโซมอลทูโลส ยังสามารถกระตุ้น receptor บริเวณปลายลำไส้เล็ก เพิ่มการหลั่งฮอร์โมนอินครีติน (Incretin hormone) ชนิด GLP-1 (Glucagon-like peptide 1) ได้มากถึง 2 เท่า เมื่อเทียบกับการรับประทานน้ำตาลทราย ซึ่ง GLP-1 เป็นฮอร์โมนที่มีบทบาทสำคัญต่อการรักษาสมดุลระดับน้ำตาลในร่างกาย [1][2]

เอกสารอ้างอิง

  1. Maeda A, Miyagawa J, Miuchi M, et al. Effects of the naturally-occurring disaccharides, palatinose and sucrose, on incretin secretion in healthy non-obese subjects. J Diabetes Investig. 2013;4(3):281-286.
  2. Ang M, Linn T. Comparison of the effects of slowly and rapidly absorbed carbohydrates on postprandial glucose metabolism in type 2 diabetes mellitus patients: a randomized trial. Am J Clin Nutr. 2014 Oct;100(4):1059-68.

ให้พลังงานยาวนานต่อเนื่อง

พาลาทีน เป็นสารอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต ที่ให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี่ต่อ 1 กรัม เท่ากับน้ำตาลทรายหรือข้าวแป้งทั่วไป แตกต่างกันตรงที่โครงสร้างของพาลาทีน (ไอโซมอลทูโลส) จับกันด้วยพันธะไกลโคซิดิกชนิดแอลฟา-1,6 ส่งผลให้ร่างกายใช้เวลาย่อยและดูดซึมช้ากว่าน้ำตาลทรายถึง 4 เท่า [1] จึงกลายเป็นกลูโคสเข้าสู่กระแสเลือดอย่างช้า ๆ ส่งผลให้ร่างกายได้รับพลังงานอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

จากการศึกษาในนักกีฬาพบว่า การรับประทานเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของไอโซมอลทูโลสที่มีค่า GI ต่ำ ช่วยรักษาระดับกลูโคสในเลือดขณะออกกำลังกายให้คงที่ ส่งผลดีคือ ช่วยให้เหนื่อยช้าลง เหมาะสำหรับการออกกำลังกายแบบแรงต้านที่ใช้เวลามากกว่า 1 ชั่วโมง (Endurance exercise) และทำให้ร่างกายสามารถดึงไขมันออกมาเผาผลาญเป็นพลังงานได้มากกว่าถึง 20 % เมื่อเทียบกับการรับประทานเครื่องดื่มที่มีค่า GI สูง [2]

กลูโคสในเลือดยังเป็นแหล่งพลังงานหลักของสมอง หากระดับกลูโคสในเลือดลดลงมากจะส่งผลให้สมองทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ ดังนั้นการที่ไอโซมอลทูโลสช่วยรักษาระดับกลูโคสในเลือดให้คงที่ จึงช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานของสมอง ให้มีสมาธิมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้จากการศึกษาทั้งในเด็กและผู้ใหญ่พบว่า การรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของไอโซมอลทูโลสส่งผลให้ความจำดีขึ้น เมื่อเทียบกับการรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของน้ำตาลทั่วไป [3][4]

เอกสารอ้างอิง

  1. Sangeetha Shyam, Amutha Ramadas, Sui Kiat Chang, Isomaltulose: Recent evidence for health benefits, Journal of Functional Foods, Volume 48, 2018, Pages 173-178.
  2. König D, Zdzieblik D, Holz A, Theis S, Gollhofer A. Substrate Utilization and Cycling Performance Following Palatinose™ Ingestion: A Randomized, Double-Blind, Controlled Trial. Nutrients. 2016 Jun 23;8(7):390. doi: 10.3390/nu8070390. PMID: 27347996; PMCID: PMC4963866.
  3. Hayley Young, David Benton, The glycemic load of meals, cognition and mood in middle and older aged adults with differences in glucose tolerance: A randomized trial, e-SPEN Journal, Volume 9, Issue 4, 2014, Pages e147-e154.
  4. Young H, Benton D. The effect of using isomaltulose (Palatinose™) to modulate the glycaemic properties of breakfast on the cognitive performance of children. Eur J Nutr. 2015 Sep;54(6):1013-20. doi: 10.1007/s00394-014-0779-8. Epub 2014 Oct 14. PMID: 25311061; PMCID: PMC4540784.

เหมาะสำหรับผู้ควบคุมน้ำหนัก

การควบคุมน้ำหนักตัว “ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยพบเด็กและผู้ใหญ่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานจำนวนมาก จากการบริโภคเกินความจำเป็น ไม่ถูกหลักโภชนาการ” (เครือข่ายคนไทยไร้พุง 2564)

ปัจจุบัน ผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักตัวส่วนใหญ่มักมีความเชื่อที่ว่า ต้องจำกัดการรับประทานอาหารให้น้อยที่สุด และไม่ควรรับประทานอาหารจำพวกแป้งหรือน้ำตาล แต่อย่างไรก็ตาม ร่างกายยังคงต้องได้รับสารอาหารครบถ้วนเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะการขาดสารอาหารระหว่างควบคุมน้ำหนักโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คาร์โบไฮเดรตชนิดที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำในปริมาณพอเหมาะ เพื่อควบคุมน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม

พาลาทีน ช่วยเพิ่มการเผาผลาญไขมันสูงถึง 20%

พาลาทีน ถูกย่อยและดูดซึมเป็นกลูโคสเข้าสู่เลือดอย่างช้า ๆ ส่งผลให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนอินซูลินน้อยกว่า ซึ่งฮอร์โมนอินซูลินนี้มีผลกระตุ้นการสะสมไขมันในร่างกาย จากการศึกษาพบว่าพาลาทีน (ไอโซมอลทูโลส) ช่วยลดการสะสมไขมัน และเพิ่มการเผาผลาญไขมันในร่างกาย (Fat oxidation) มากกว่าการรับประทานน้ำตาลทรายทั่วไปถึงร้อยละ 20 [1]  อีกทั้งยังพบว่าการรับประทานไอโซมอลทูโลสในระยะยาวช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ในเลือด และส่งผลให้ไขมันในช่องท้องลดลงอย่างมีนัยสำคัญ [2][3] ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก

เอกสารอ้างอิง

1. Sridonpai P, Komindr S, Kriengsinyos W. Impact of Isomaltulose and Sucrose Based Breakfasts on Postprandial Substrate Oxidation and Glycemic/Insulinemic Changes in Type-2 Diabetes Mellitus Subjects. J Med Assoc Thai. 2016 Mar;99(3):282-9. PMID: 27276739.

2. Brunner S, Holub I, Theis S, Gostner A, Melcher R, Wolf P, Amann-Gassner U, Scheppach W, Hauner H. Metabolic effects of replacing sucrose by isomaltulose in subjects with type 2 diabetes: a randomized double-blind trial. Diabetes Care. 2012 Jun;35(6):1249-51. doi: 10.2337/dc11-1485. Epub 2012 Apr 9.

3. Okuno M, Kim MK, Mizu M, Mori M, Mori H, Yamori Y. Palatinose-blended sugar compared with sucrose: different effects on insulin sensitivity after 12 weeks supplementation in sedentary adults. Int J Food Sci Nutr. 2010 Sep;61(6):643-51.

รักษาสภาพสารต้านอนุมูลอิสระในอาหาร

สารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) คือสารที่สามารถยับยั้ง หรือชะลอการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน (oxidation) ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดอนุมูลอิสระ (free radical) ในร่างกาย เพื่อไม่ให้อนุมูลอิสระนี้สร้างความเสียหายให้กับเซลล์ ก่อให้เกิดความเสื่อมของอวัยวะต่าง ๆ หรือทำลายระบบภูมิคุ้มกัน การรับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระจึงมีส่วนช่วยป้องกันโรคเรื้อรังและโรคต่าง ๆ ที่มาพร้อมอายุที่เพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างสารต้านอนุมูลอิสระที่พบในอาหาร ได้แก่ วิตามินซี วิตามินอี ซีลีเนียม แคโรทีนอยด์ โพลีฟีนอล เป็นต้น [1]

จากการศึกษาผลของพาลาทีน®ในเครื่องดื่มชาเขียวพบว่า พาลาทีน มีส่วนช่วยให้สารโพลีฟีนอล (Polyphenol) ซึ่งเป็นสารที่ทำหน้าที่ต้านอนุมูลอิสระ คงอยู่ในอาหารมากกว่าการใช้น้ำตาลทราย  อีกทั้งพาลาทีน®ยังส่งเสริมประสิทธิภาพของชาเขียวในการยับยั้งการดูดซึมน้ำตาลและลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังมื้ออาหาร มากกว่าการใช้น้ำตาลทราย [2]

เอกสารอ้างอิง

  1. “Antioxidants: In Depth”. NCCIH. June 2010. Archived from the originalon 25 August 2018. Retrieved 20 June 2018.
  2. Suraphad P, Suklaew PO, Ngamukote S, Adisakwattana S, Mäkynen K. The Effect of Isomaltulose Together with Green Tea on Glycemic Response and Antioxidant Capacity: A Single-Blind, Crossover Study in Healthy Subjects. Nutrients. 2017 May 6;9(5):464. doi: 10.3390/nu9050464. PMID: 28481230; PMCID: PMC5452194.

ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย

สังคมปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิต การเรียน การทำงาน เศรษฐกิจ การเมือง ค่านิยมและวัฒนธรรม รวมไปถึงอุบัติการณ์โรคระบาดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียด หากความเครียดที่เกิดขึ้นอยู่ในระดับที่มากจนเกินไปย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของบุคคล (กรมสุขภาพจิต, 2563) ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีผลิตภัณฑ์ที่ช่วยผ่อนคลายความเครียดออกมาวางขายในท้องตลาดเพื่อตอบโจทย์ปัญหาเหล่านี้

อาหารเป็นหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยลดความเครียด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกลิ่น รสชาติ รูปลักษณ์ของอาหาร รวมไปถึงส่วนประกอบของอาหารที่มีฤทธิ์ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย ยกตัวอย่างเช่น สารธีอะนีน (Theanine) ที่พบมากในชาเขียว มีผลต่อการหลั่งสารสื่อประสาทในสมอง [1] หรือแม้แต่น้ำตาลที่เมื่อรับประทานเข้าสู่ร่างกายแล้วจะเป็นพลังงานให้แก่เซลล์สมอง ช่วยกระตุ้นการหลั่งของสารเคมีในสมอง ทำให้รู้สึกสดชื่นและอารมณ์ดีขึ้น นี่จึงเป็นที่มาของการที่เราดื่มน้ำหวานแล้วรู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่า [2]

จากการศึกษาเกี่ยวกับกลไกของคลื่นสมองต่อสภาวะในร่างกายพบว่า คลื่นสมองที่เกิดขึ้นในช่วงที่ร่างกายอยู่ในสภาวะที่สบาย ๆ ผ่อนคลายจากสิ่งเร้าภายนอก คือ คลื่นแอลฟา (Alpha wave)  ซึ่งมีผลตรงกันข้ามกับคลื่นเบต้า (Beta wave) ที่จะเกิดขึ้นในช่วงที่ร่างกายใช้ความคิดหรือมีความเครียด การศึกษานี้ทำการทดลองในอาสาสมัครจำนวน 18 คน อายุ 21–40 ปี เพื่อดูผลการรับประทานไอโซมอลทูโลสต่อการเกิดคลื่นสมองชนิดแอลฟาพบว่า การรับประทานไอโซมอลทูโลส 40 กรัม ส่งผลให้เกิดคลื่นชนิดแอลฟาในสมองหลังจากรับประทาน 150 นาที มากกว่าการรับประทานน้ำตาลอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งการรับประทานไอโซมอลทูโลสร่วมกับสารธีอะนีนที่มีผลช่วยลดความเครียด ยังช่วยเพิ่มการเกิดคลื่นแอลฟาในสมองมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ [3]

พาลาทีน (ไอโซมอลทูโลส) ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายความเครียด เนื่องจากถูกย่อยและดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดอย่างช้า ๆ ไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำจนเกินไป ส่งผลให้สมองได้รับพลังงานอย่างสม่ำเสมอและผลิตคลื่นสมองและสารสื่อประสาทได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยเสริมฤทธิ์สารออกฤทธิ์ในอาหารที่มีผลต่อการลดความเครียดได้อีกด้วย

เอกสารอ้างอิง

1.  Juneja, L.R., Chu, D.-C., Okubo, T., Nagato, Y. and Yokogoshi, H. (1999). L-Theanine: a unique amino acid of green tea and its relaxation effect in human. Trends Food Sci. Technol. 10. 199–204.

2. Martin, P.Y. and Benton, D. (1999). The influence of a glucose drink on a demanding working memory task. Physiol. Behav. 67. 69–74.

3. NAGAI, Yukie & SATO, Hiroshi & Kashimura, Jun & EBASHI, Tadashi & MACHI, Yoshio. (2003). Effect of Palatinose Administration on .ALPHA.1 Brain Waves in Human Volunteers. Food Science and Technology Research – FOOD SCI TECHNOL RES. 9. 357-360.