โรคเบาหวานเป็นโรคที่คนไทยป่วยเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ซึ่งผู้ป่วยแต่ละคนก็ได้รับคำแนะนำในการดูแลรักษาตัวแตกต่างกันไปหลายรูปแบบ ทั้งได้รับมาจากแพทย์ พยาบาล นักกำหนดอาหาร หรือบุคลากรทางการแพทย์คนอื่น ๆ ซึ่งบางครั้ง คำแนะนำที่มากมายเหล่านี้ก็อาจจะสร้างความสับสนให้กับผู้ป่วยจนกลายเป็นเรื่องเข้าใจผิดเกี่ยวกับการดูแลรักษาโรคเบาหวานได้
ในบทความนี้ผมได้รวบรวม 3 เรื่องเข้าใจผิดที่มักพบอยู่เป็นประจำทั้งจากคนใกล้ตัว หรือตามแหล่งข้อมูลในอินเทอร์เน็ต ถ้าพร้อมแล้วมาปรับความเข้าใจกันใหม่ดีกว่า เรามาเริ่มกันที่เรื่องที่ถูกเข้าใจผิดมากที่สุดก่อน นั่นก็คือ
เรื่องที่ 1 เป็นเบาหวานต้องทานข้าวให้น้อยที่สุด
เวลาที่แพทย์หรือนักกำหนดอาหารให้คำแนะนำ เรามักจะดูเรื่องปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่ผู้ป่วยเบาหวานรับประทานเป็นอย่างแรก ซึ่งคาร์โบไฮเดรตที่เป็นอาหารหลักของคนไทยก็คือ “ข้าว” เพราะฉะนั้น การแนะนำให้ผู้ป่วยทานข้าวให้น้อยลงในแต่ละมื้อจึงเป็นเรื่องที่ดูมีเหตุผล แต่จริง ๆ แล้ว มันเป็นแบบนั้นหรือเปล่านะ?
ข้าว ไม่เท่ากับ น้ำตาล
ถึงแม้ว่าการทานข้าวจะทำให้น้ำตาลในเลือดขึ้น แต่ข้าวก็ไม่ได้มีแต่ข้อเสียเพียงอย่างเดียว สำหรับผู้ป่วยเบาหวานแล้ว ข้าวยังมีประโยชน์ที่มากกว่านั้น เช่น
- เป็นแหล่งพลังงานที่ดี
- มีวิตามินบีสูง
- มีแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย
นอกจากนี้ ในบางกรณี การลดปริมาณการทานข้าวอาจส่งผลเสียต่อผู้ป่วยเบาหวานมากกว่าที่คิด โดยเฉพาะผู้ป่วยที่กำลังรักษาด้วยยาฉีด (อินซูลิน) เนื่องจากการลดปริมาณการทานข้าวลงโดยไม่ปรับลดปริมาณยาที่ฉีด อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งถือเป็นเรื่องอันตรายอย่างมากสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
ไม่ควรโฟกัสไปที่ ปริมาณ เพียงอย่างเดียว แต่ต้องดูที่ ชนิด ของข้าวด้วย
การลดปริมาณการทานข้าวไม่ใช่วิธีเดียวในการคุมน้ำตาลในเลือด ยังมีวิธีอื่นที่จะช่วยให้คุณคุมน้ำตาลได้ดีขึ้น โดยไม่ต้องกังวลเรื่องภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เช่น การเปลี่ยนชนิดของข้าว จากเดิมคุณอาจจะทานข้าวขาวก็เปลี่ยนมาเป็นทานข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวหอมมะลินิล หรือข้าวอื่น ๆ ที่ไม่ผ่านกระบวนการขัดสีแทน เพราะข้าวเหล่านี้มีใยอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระเหลืออยู่ครบถ้วน ซึ่งมีประโยชน์ในด้านการคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้เป็นอย่างดี
ถึงแม้ว่าผู้ป่วยเบาหวานจะต้องระมัดระวังในการทานคาร์โบไฮเดรต แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทานข้าวให้น้อยที่สุด เพราะสุดท้ายแล้ว ข้าวก็ยังมีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายอยู่ดี เพราะฉะนั้นแล้ว แทนที่จะไปพยายามตั้งหน้าตั้งตาลดปริมาณการทานข้าวลง ควรลองเปลี่ยนมาเป็นทานข้าวให้พอดีกับความต้องการ และเปลี่ยนชนิดข้าวไปเป็นข้าวที่ไม่ผ่านการขัดขาวแทนจะดีกว่า
เรื่องที่ 2 เป็นเบาหวานห้ามกินผลไม้เด็ดขาด
ต้องบอกก่อนว่าไม่ใช่เรื่องผิดที่ผู้ป่วยเบาหวานจะเลิกทานผลไม้ไปเลย และผลไม้บางชนิดก็มีน้ำตาลสูงจริง ๆ นั่นแหละ แต่ก็ไม่ใช่ว่า “ผลไม้” จะกลายเป็นอาหารต้องห้ามสำหรับผู้ป่วยเบาหวานเสมอไป เนื่องจาก
น้ำตาลในผลไม้ไม่ได้ส่งผลต่อน้ำตาลในเลือด (มากขนาดนั้น)
ในผลไม้จะมีน้ำตาลอยู่ 2 ชนิดคือ น้ำตาลฟรุกโทส และน้ำตาลกลูโคส โดยผลไม้ส่วนใหญ่จะมีปริมาณน้ำตาลทั้ง 2 ชนิดนี้เท่า ๆ กัน ซึ่งน้ำตาลฟรุกโทสนั้นเป็นน้ำตาลที่ส่งผลต่อน้ำตาลในเลือดน้อยมาก ดังนั้น การที่ผลไม้มีน้ำตาลฟรุกโทสอยู่ถึงครึ่งหนึ่ง จึงส่งผลให้ตัวผลไม้นั้นไม่ได้ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นมากอย่างที่คิด (หากไม่ได้ทานเยอะเกินไป แต่ถ้าคุณไม่มั่นใจว่าควรทานปริมาณเท่าไรดี สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ บทความนี้) และยังมีอีกหนึ่งเหตุผลที่ว่าทำไมผู้ป่วยเบาหวานถึงควรทานผลไม้ด้วยซ้ำ นั่นคือ…
จริง ๆ แล้ว ผลไม้ช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานคุมน้ำตาลได้ดีขึ้นด้วยซ้ำ
ในผลไม้มีใยอาหารอยู่เยอะ ซึ่งช่วยในการชะลอการดูดซึมน้ำตาล และช่วยให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ไม่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเหมือนเวลาที่ทานของหวานอื่น ๆ แถมผลไม้ยังมีสารพฤกษเคมีที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือแม้กระทั่งโรคมะเร็ง เป็นต้น
นอกจากนี้ การทานผลไม้ยังทำให้คุณสามารถคุมน้ำหนักได้ดียิ่งขึ้นด้วย เนื่องจาก ผลไม้เป็นอาหารที่มีแคลอรีต่ำ แต่ทานแล้วอิ่มท้อง จึงช่วยลดปัญหาความหิวระหว่างวัน และช่วยให้คุณทานของว่างอื่น ๆ (ที่มักมีน้ำตาลและแคลอรีสูง) ได้น้อยลง ส่งผลให้โดยรวมแล้ว ผลไม้กลับเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยเบาหวานเสียด้วยซ้ำ
คาร์โบไฮเดรตกับผู้ป่วยเบาหวานถือเป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาอย่างยาวนาน และมักจะสร้างความสับสนหรือความเข้าใจผิดอยู่เป็นประจำ บางคนอาจจะเข้าใจว่าถ้าเป็นเบาหวานต้องทานข้าวให้น้อยที่สุด หรือบางคนอาจจะเข้าใจว่าต้องเลิกทานผลไม้ไปเลย แต่บางคนอาจมีความเคร่งครัดในการคุมน้ำตาลมากกว่านั้น จนถึงขั้นกลายเป็นเรื่องเข้าใจผิดที่ว่า…
เรื่องที่ 3 เป็นเบาหวานต้องทานคีโต
อาหารคีโตจีนิค (Ketogenic diet) หรือที่เราเรียกกันอย่างติดปากว่า “คีโต” คือ รูปแบบการทานอาหารที่เน้นการทานไขมันเป็นหลัก ทานโปรตีนรองลงมา และพยายามทานคาร์โบไฮเดรตให้น้อยที่สุด ถ้าดูจากแนวคิดก็ดูจะเหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน เพราะมีการจำกัดการทานคาร์โบไฮเดรตให้มากที่สุด ซึ่งก็น่าจะเป็นผลดีต่อการคุมน้ำตาลในเลือดสิ แล้วมันถือเป็นเรื่องเข้าใจผิดยังไงกันนะ?
ต้องอธิบายก่อนว่า ในปัจจุบัน มีงานวิจัยจำนวนมากที่ยืนยันว่า การทานคีโตมีประโยชน์หลายอย่างต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น
- ช่วยคุมระดับน้ำตาลในเลือด
- ช่วยให้ร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินได้ดี และนำน้ำตาลในเลือดไปใช้ได้ดีขึ้น
- ช่วยลดความดันโลหิต
- ช่วยลดน้ำหนัก
หากพิจารณาจากประโยชน์จะเห็นว่า คีโตก็ดูเหมาะกับผู้ป่วยเบาหวานมาก ทั้งช่วยคุมน้ำตาล ช่วยลดความดัน แถมยังช่วยลดน้ำหนักอีก ดูยังไงก็ไม่น่าจะมีปัญหา แต่ว่า…
ถึงประโยชน์จะเยอะ แต่ปัญหาก็แยะ
แต่ประเด็นมันอยู่ตรงที่ว่า กว่าที่ผู้ป่วยเบาหวานจะได้รับประโยชน์เหล่านี้ จะต้องทานคีโตต่อเนื่องอย่างน้อยเป็นเวลา 1 เดือน ซึ่งในระหว่างนั้น ผู้ป่วยเบาหวานจะต้องเจอกับผลข้างเคียงที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพหลายอย่าง เช่น
- อาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานที่กำลังรักษาด้วยอินซูลิน
- อาจเป็นไข้คีโต โดยผู้ที่เป็นจะมีอาการปวดหัว คลื่นไส้ ท้องผูก อ่อนเพลีย อันเป็นผลข้างเคียงจากการทานคีโต ซึ่งหากเกิดอาการเหล่านี้ขึ้นมา ก็จะทำให้ผู้ป่วยเบาหวานทานอาหารได้น้อยลง และส่งผลต่อการทานยารักษาเบาหวานตามไปด้วย
ถึงแม้ว่าคุณจะสามารถฝ่าฟันอาการข้างเคียงในระยะแรกไปได้ การทานคีโตก็ยังมีผลข้างเคียงในระยะยาวที่ต้องระมัดระวังอีก เช่น
- เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดนิ่วในไต
- ทำให้กระดูกไม่แข็งแรงและมีโอกาสหักมากขึ้น
- หากทานไขมันอิ่มตัวมากเกินไป จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด
อีกทั้งการทานคีโตยังเป็นรูปแบบการทานอาหารที่คนไทยไม่ค่อยคุ้นชิน เพราะเดิมทีเราทานข้าวกันเป็นอาหารหลัก อยู่ ๆ จะให้เลิกทานข้าวแล้วไปทานไขมันแทนก็อาจจะเป็นการหักดิบเกินไปหน่อย จึงทำให้การทานคีโตนั้นเป็นเรื่องที่ทำตามได้ยาก และมีโอกาสประสบความสำเร็จน้อย
จะเห็นว่าการทานคีโตนั้นมีประโยชน์อยู่ก็จริง แต่สำหรับผู้ป่วยเบาหวานแล้ว กว่าจะได้รับประโยชน์นั้นมาอาจจะต้องยอมแลกกับสุขภาพในด้านอื่น ๆ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ยังมีรูปแบบการทานอาหารอีกมากมายที่ช่วยให้ผู้ป่วยคุมน้ำตาลในเลือดได้ โดยไม่มีผลข้างเคียงต่อสุขภาพ
ทั้งหมดนี้ก็เป็น 3 เรื่องเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคเบาหวาน ถึงแม้ผมจะบอกว่าเป็นเรื่องเข้าใจผิด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เรื่องเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ห้ามทำไปเสียทั้งหมด ผมเพียงแค่คิดว่า คงเป็นเรื่องที่ดีกว่าถ้าผู้ป่วยจะมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคเบาหวาน เพราะจะทำให้ผู้ป่วยมีตัวเลือกในการทานอาหารมากขึ้น และมีความสุขในการทานอาหารมากขึ้นตามไปด้วย
ผลิตภัณฑ์ของเรา
🛒สามารถสั่งซื้อพาลาทีนไลท์ได้ที่
🔵Facebook: https://m.me/PalatyneHealthySweetener
📱LINE@: https://lin.ee/iADtNKV
📞เบอร์โทรศัพท์: 086-369-5555
👉🏻ร้านค้า Lemon Farm ทุกสาขา
👉🏻ร้านค้า Golden Place สาขาพระราม 9, สีลม, หัวหิน1, สะพานสูง, ศิริราช2, ม.เกษตร, ถนนสุโขทัย, ชวนชม, ฉะเชิงเทรา
อ้างอิง
American Diabetes Association Professional Practice Committee; 5. Facilitating Behavior Change and Well-being to Improve Health Outcomes: Standards of Medical Care in Diabetes—2022. Diabetes Care 1 January 2022; 45 (Supplement_1): S60–S82. https://doi.org/10.2337/dc22-S005
Choi, Y. J., Jeon, S. M., & Shin, S. (2020). Impact of a Ketogenic Diet on Metabolic Parameters in Patients with Obesity or Overweight and with or without Type 2 Diabetes: A Meta-Analysis of Randomized Controlled Trials. Nutrients, 12(7), 2005. https://doi.org/10.3390/nu12072005
คุณอ่านบทความนี้แล้วหรือยัง?
- สารให้ความหวานต่างจากน้ำตาลอย่างไร
- Palatyne smart cabohydate for sport drink
- สิ่งที่ควรทำเมื่อเกิดภาวะน้ำตาลตก
- Fast Foot ทำร้ายผู้ป่วยเบาหวานมากกว่าที่คิด
- 7 ของว่างสุดปัง เปลี่ยนจากร่างพังเป็นร่างผอม